กสม.เร่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์การชุมนุม 05/03/2014

วันอาทิตย์ที่ 09 มีนาคม 2014 เวลา 08:59 น. ผู้ดูแลระบบ
พิมพ์

ข่าวประชาสัมพันธ์

กสม.เร่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์การชุมนุม

จากการชุมนุมทางการเมืองของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) และกลุ่มชุมนุมอื่นๆเพื่อคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม การคัดค้านการดำเนินการต่อการเลือกตั้งล่วงหน้า และขับไล่รัฐบาล  ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในหลายพื้นที่การชุมนุม นั้น

จาก สถานการณ์การชุมนุมดังกล่าว มีผู้ร้องเรียน  รวมถึงการโทรศัพท์แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ง ชาติในการดำเนินการตรวจสอบ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหลายราย  ทั้งนี้ กสม. พิจารณาว่าคำร้องเรียนอยู่ในอำนาจหน้าที่และรับเรื่องร้องเรียนไว้ โดยสรุปประเด็นการร้องเรียนต่างๆได้ ดังนี้  กรณีการใช้สารเคมีในการสลายการชุมนุม  การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมุนม กรณีเนรเทศคนต่างด้าวที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง  การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก  การออกหมายจับแกนนำของกปปส. กรณีกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง  กรณีการใช้ระเบิดสังหาร อาวุธสงครามต่อผู้ชุมนุมและสถานที่ราชการ  และขอให้พิจารณาส่งเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการจัดตั้งสภาประชาชน 

ใน การนี้  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีมติมอบหมายประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมทุกมิติให้คณะ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดำเนินการตรวจสอบ และได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก  สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเด็กและสตรี  

ใน ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองคณะได้ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล  แสวงหาข้อเท็จจริง  รับฟังคำชี้แจงและรวบรวมพยานหลักฐาน  พยานเอกสาร พยานวัตถุ  รวมทั้งการเชิญผู้ร้อง ผู้ถูกร้องและผู้ที่เกี่ยวข้อง  มาชี้แจงข้อเท็จจริง  นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุร่วมกับคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้ง จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจะมีการพิจารณาจัดทำรายงานผลการตรวจสอบ และ มาตรการการแก้ไขเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาเป็นขั้นตอน สุดท้าย  อย่างไรก็ดี เนื่องจาก กสม.มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ  แต่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารการ ดำเนินงานตรวจสอบจึงมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติอยู่บ้าง

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะได้เร่งรัดการดำเนินการ และรายงานความคืบหน้าเรื่องการตรวจสอบให้สาธารณชนได้รับรู้ตามโอกาสที่เหมาะสมต่อไป 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๕ มีนาคม  ๒๕๕๗