กสม.แถลง ๖ ปี ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ ๒

วันศุกร์ที่ 08 มกราคม 2016 เวลา 05:49 น. niphawan kaewsaentip
พิมพ์
 
กสม.แถลง ๖ ปี ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ ๒
 
          คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดแถลง ๖ ปีผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ชุดที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน  ๒๕๕๘  ณ ห้องประชุม ๗๐๙ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   โดยมีผู้แถลง ได้แก่ ศาสตราจารย์อมรา  พงศาพิชญ์  นายแพทย์นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ  ดร. ปริญญา  ศิริสารการ  นายไพบูลย์  วราหะไพฑูรย์  และนางวิสา  เบ็ญจะมโน  ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ กสม. ชุดที่ ๒ มีรายละเอียดดังนี้
 
********************
๖ ปี กสม. กับผลงานที่ผ่านมา

          แม้ว่าสังคมไทยจะตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่มิได้หมายความว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะหมดสิ้นไป ในบางกรณีกลับยิ่งมีความสลับซับซ้อน บ่อยครั้งที่ทั้งกฎหมาย แนวทางปฏิบัติ รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ก็ยังก้าวตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาตามสังคมที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

          การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่ ๒ นับตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ จึงมีทั้งความพยายามที่จะจัดการปัญหารายกรณีและสร้างกลไกเพื่อรับมือในระยะยาว โดยตลอดระยะเวลา ๖ ปีกว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ กสม. จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากกลุ่มผู้ชุมนุมทุกสีทุกฝ่าย แม้ว่าจะพยายามรักษาความเป็นกลางโดยคำนึงถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้มากที่สุดเพียงใดก็ตาม โดยเฉพาะการตรวจสอบของ กสม. ต่อกรณีการชุมนุมทางการเมืองจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างเดือนมีนาคม–พฤษภาคม ๒๕๕๓ และการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในช่วงปลายปี ๒๕๕๖ ต่อต้นปี ๒๕๕๗ ที่เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก

          กสม. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆ มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเพื่อเก็บข้อมูลและติดตามการชุมนุมอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของผู้ชุมนุมและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ พร้อมกันนั้นยังได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยและกระตุ้นเตือนทุกฝ่ายให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเดินสายพูดคุยกับบุคคลต่างๆ เพื่อหาทางประนีประนอมและทางออกจากวิกฤต

          ท้ายที่สุด ถึงแม้ว่ารายงานบางชิ้นที่ออกมาจะสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มการเมือง แต่ กสม. สามารถสรุปบทเรียนได้ว่า สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการใช้อำนาจของรัฐในการบริหารจัดการการชุมนุม รวมทั้งมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น การหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายพิเศษ ที่ทั้งภาครัฐและภาคสังคมต้องหาทางออกร่วมกัน โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ เป็นต้น

          ๖ ปีในการดำเนินงานของ กสม. ชุดที่ ๒  ได้กำหนดยุทธศาสตร์มุ่งเน้น ๔ ประเด็นหลัก อันได้แก่ สิทธิมนุษยชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม สิทธิมนุษยชนกับการพัฒนาและบทบาทภาคธุรกิจ สิทธิมนุษยชนในกลุ่มผู้เสี่ยงต่อการถูกละเมิด  สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม  และ ๑ พื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้  สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาส่วนใหญ่ที่เข้ามาสู่ กสม. คือ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือบางกรณีเป็นการกระทำผิดกฎหมายเสียเอง ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบและดำเนินการหลายกรณี อย่างไรก็ตาม การไล่ตามปัญหาเป็นรายกรณีคงมิใช่ทางออกที่เหมาะสมในระยะยาว เหตุนี้ กสม. จึงยังมีงานอีกส่วนที่เป็นการขับเคลื่อนในเชิงการสร้างความรู้ความเข้าใจ เช่น โครงการอบรมเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เรื่อง การป้องกันการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในประเทศไทย และการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

          ด้านสิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จัดเป็นประเด็นที่เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมากที่สุดของสังคมไทย เมื่อทุนปะทะกับสิทธิชุมชน กรณีการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย นับเป็นกรณีโด่งดังที่สุดกรณีหนึ่งที่บานปลายไปสู่การใช้กำลังเข้าทำร้ายชาวบ้าน หรือกรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันในทะเลอ่าวไทยพื้นที่จังหวัดระยอง สร้างความสูญเสียทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่ง กสม. ได้เข้าไปทำการตรวจสอบทั้งสองกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ในทุกภูมิภาคเช่นกัน การขับเคลื่อนงานด้านการเรียนรู้ เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย เป็นงานที่ กสม. ดำเนินคู่ขนานกันไปด้วย

          ด้านที่ดินและป่า กรณีที่น่าสนใจคือ การผลักดันชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมออกจากบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเจ้าหน้าที่อุทยานได้เข้าผลักดัน รื้อถอน และเผาทำลายบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ทั้งเป็นผู้มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาทตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐มิถุนายน ๒๕๔๑ เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ และการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กสม. ได้กำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณีไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขเยียวยา

          ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ กสม. ได้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิกรณีเกษตรกรอำเภอเมืองพิจิตร โพทะเล บางมูลนาก และบึงนาราง จังหวัดพิจิตร จำนวน ๒๒๕ ราย ที่ไม่ได้รับใบประทวนสินค้าและเงินจากการจำนำข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ปีการผลิต ๒๕๕๕/๒๕๕๖ การตรวจสอบของ กสม. พบว่า ชาวนา ๒๒๕ รายได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ถูกร้องจึงมีหน้าที่อันปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องส่งใบประทวนให้แก่ชาวนาทั้ง ๒๒๕ ราย   กสม. ได้เสนอมาตรการ ไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อออกคำสั่งให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับผิดชอบออกใบประทวนแก่ผู้ร้อง ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่ กสม. เสนอ

          นอกจากนี้ ได้ดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ ได้แก่ การประสานงานและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ร่วมกับเครือข่ายภาคธุรกิจ เพื่อสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานกับภาคธุรกิจ โดยให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) ควบคู่กับการดำเนินงานซึ่งเป็นเป้าหมายหลักขององค์กร ทั้งนี้  เป็นไปตามที่สหประชาชาติกำหนดกรอบเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของภาคธุรกิจเอกชน คือ ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ UN Global Compact และ Guiding Principles on Implementing the UN Protect, Respect, Remedy Framework for Business and Human Rights.ซึ่งสหประชาชาติประกาศเป็นหลักการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔

          ด้านสิทธิเด็กและสตรี ประเด็นนี้มีหลายกรณีที่ กสม. มีการตรวจสอบ กรณีตัวอย่าง เช่น กรณีการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ของสถาบันการศึกษา ทุกปีภาพการรับน้องที่ปรากฏสู่สาธารณะมักส่อในเชิงเพศหรือการใช้ความรุนแรง ล้วนสร้างคำถามต่อความเหมาะสมของกิจกรรมนี้ ทาง กสม. ได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นระยะๆ และพูดคุยกับผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ถูกร้องเรียน เพื่อให้กิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์เป็นไปอย่างเหมาะสม และป้องกันไม่ให้เกิดมีการละเมิดสิทธิ ซึ่งหากเกิดขึ้นหรือเกิดการกระทำผิดกฎหมาย สถาบันการศึกษาควรต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

          กรณีความรุนแรงต่อเด็กและสตรีและการคุกคามทางเพศในที่ทำงานและสถาบันการศึกษา ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาอยู่เป็นระยะๆ  กสม. ได้ตรวจสอบโดยการเชิญหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องให้มาชี้แจง มีการลงพื้นที่ การประชุมร่วมกับจังหวัด และการศึกษาในเชิงวิชาการจนพบว่า ความรุนแรงลักษณะนี้เป็นเพราะโครงสร้างเชิงอำนาจที่มีเพศชายเป็นใหญ่ กสม. จึงจัดทำรายงานผลการตรวจสอบ มาตรการการแก้ไข และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ ยังรวมถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมด้วย

          ด้านสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุข กรณีที่ถือว่ามีความสำคัญและข้องเกี่ยวกับประเด็นนโยบายระดับประเทศคือ  การเจรจาการค้าระหว่างประเทศหรือที่ภาคประชาชนมักเรียกว่า เอฟทีเอ เหตุเกิดเมื่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้จัดให้มีการประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย และศึกษาผลกระทบเพื่อใช้จัดทำข้อคิดเห็นเสนอต่อคณะเจรจาการค้าสำหรับประกอบการจัดทำท่าทีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทยในอนาคต กสม. เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขัดกับมาตรา ๑๙๐ ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ จึงได้เสนอแนะให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

          ด้านสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ  ผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนถึงสังคมไทยจะดูเปิดกว้างแก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ทว่าในความเป็นจริงแล้วอคติยังคงฝังแน่นอยู่ในความคิดของผู้คนและในโครงสร้างของสังคม ซึ่งสามารถเห็นได้จากเรื่องร้องเรียนที่ส่งเข้ามายัง กสม. เช่น  กรณีนักศึกษาของสถาบันแห่งหนึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบเพราะแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิด กล่าวคือมีเพศกำเนิดเป็นหญิง แต่ใส่กางเกงเข้าสอบ ผิดข้อบังคับของทางสถานบัน ซึ่งทางผู้ร้องเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือกรณีนักศึกษาที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย แต่มีเพศวิถีเป็นหญิง ไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งกายเป็นผู้หญิงในวันเข้ารับปริญญา หรืออีกกรณีหนึ่ง บุคคลที่มีเพศสภาพกำกวม  พ่อได้แจ้งเกิดให้ว่าเป็นผู้ชาย แต่ภายหลังพบว่าตนมีเพศวิถีเป็นหญิง จึงต้องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่โดยอ้างความยุ่งยากในการดำเนินการ กรณีต่างๆ เหล่านี้  กสม. ได้ทำการตรวจสอบและเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทางสถาบันการศึกษาและกรมการปกครอง ให้ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี

          ด้านสิทธิและสถานะบุคคล  ปัจจุบันระบบการระบุสถานะมีความทันสมัยกว่าอดีตมาก ถึงกระนั้น ปัญหาก็ยังคงมีให้เห็น เช่น การพิจารณาคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด หรือการปฏิเสธการจดทะเบียนสมรส เป็นต้น อันเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเมื่อได้รับการร้องเรียน  กสม. ได้เข้าไปตรวจสอบ พร้อมกับทำข้อเสนอแนะด้านกฎหมายและนโยบายเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อดำเนินการแก้ไข

          กรณีที่เห็นชัดเจนคือ การผลักดันให้กรมการปกครองกำชับเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ และวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ และความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ กรณีคนไทยพลัดถิ่น และ (ร่าง)กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พ.ศ. .... ออกตามความใน พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๕ และกรณีขอความช่วยเหลือให้ได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ เป็นต้น  ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเป็นวาระแห่งชาติด้วยแล้ว

          ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื้อรังมากที่สุดปัญหาหนึ่งของสังคมไทย มีผู้ที่ได้รับผลกระทบกว้างขวาง ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ สำหรับประชาชนพี่น้องมุสลิมนั้น   ข้อร้องเรียนมักเป็นการไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การซ้อมทรมาน การทำร้ายร่างกาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ส่วนผู้เสียหายฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต เป็นคำร้องของลูกเมียที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องดำเนินชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ทั้งนี้ กสม. ได้เข้าไปตรวจสอบและเยียวยาทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ 

          สำหรับงานด้านยุทธศาสตร์ เพื่อเผยแพร่และเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ได้มีการจัดโครงการอบรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ งานการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน งานประสานความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนกับบุคคลและองค์กร เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมกำลัง (Empowerment) ให้กับบุคคลและชุมชนเพื่อให้มีความเข้มแข็งในการพิทักษ์สิทธิของตนเองได้ มีการติดตามสถานการณ์สิทธิและการดำเนินการตามข้อเสนอแนะรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ หรือ Universal Periodic Review (UPR) และการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

          ด้านสิทธิด้านกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กรณีที่น่าสนใจคือ  การร้องเรียนเกี่ยวกับการนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ หลายกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวพบว่า ผู้ต้องหาถูกประชาชนที่มามุงดูรุมประชาทัณฑ์จนบาดเจ็บหรือบางรายเสียชีวิต ทั้งยังไม่มีการปกปิดใบหน้าของผู้ต้องหา จึงมีลักษณะไม่ผิดกับการประจาน อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา เหตุนี้ กสม. จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพและการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือหนังสือสั่งการของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด หากเป็นไปได้ควรใช้วิธีการอื่นแทน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้ตัวแสดงสมมติ การจำลองสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงกรณีขอให้ลบประวัติอาชญากร ตลอดจนกรณีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การไว้ผมและการแต่งกายของข้าราชการ ลูกจ้าง และผู้ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๖ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพกรณีผู้ที่เคยรับโทษให้จำคุกถูกจำกัดสิทธิในการเข้ารับราชการ และมาตรการและแนวทางการรองรับผู้ต้องโทษหลังการปล่อยตัวที่ได้รับอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้น โดย กสม. ยังคงทำการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง  จากประเด็นดังกล่าวจึงนำไปสู่การขับเคลื่อนในการสร้างความรู้ความเข้าใจโดยจัดทำโครงการอบรมเรื่อง  การนำเสนอข่าวอย่างไรไม่ละเมิด ซึ่ง กสม.ให้ความสำคัญ

          นอกจากที่กล่าวมาแล้ว กสม. ยังได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานเชิงรุกเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในประเด็นที่มีความสำคัญและมีผลกระทบในวงกว้าง ได้แก่ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ  การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยบนท้องถนน  สิทธิชุมชน กรณีการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัด  การผลักดันให้มีการอนุวัติกฎหมายไทยตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และเพื่อเตรียมรองรับการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย เป็นต้น

          การทำงานตลอด ๖ ปีของ กสม. ที่ผ่านมาคงไม่สามารถเรียกได้ว่าสิ้นสุด เพราะงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่งานที่ทำเสร็จวันนี้ แต่เป็นงานที่ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ปรับปรุง แก้ไขไม่หยุดยั้ง ความล้มเหลวเคียงคู่ไปกับความสำเร็จ เป็นงานระยะยาวที่ต้องดำเนินต่อไป 
 
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
 
********************
 
          ในการแถลงผลการดำเนินงานดังกล่าวมีเอกสาร รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ชุดที่ ๒ เผยแพร่ท่านสามารถดาวน์โหลดได้โดย <คลิกที่นี่> 
  
          ข่าวที่เกี่ยวข้อง - วาระประเทศไทย : สรุปผลงานกรรมการสิทธิฯ ก่อนพ้นวาระ (17 พ.ย. 58)  (รายการย้อนหลัง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทาง Youtube - คลิกที่นี่
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 08 มกราคม 2016 เวลา 06:09 น.